ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข

บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ

อาชีพนักเคมี หนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

สำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมที่กำลังเริ่มเข้าสู่โลกของการเรียนเคมี น้องๆ อาจจะยังไม่รู้ว่าเรียนแล้วอนาคตเราจะเป็นยังไง จะไปเรียนต่อด้านไหน หรือจะไปทำอาชีพอะไร วันนี้เราได้มีโอกาสมาถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนและการทำงานทางด้านเคมีของ ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่านยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนการสอนเคมีในทุกระดับชั้น รวมถึงวิชาชีพทางด้านเคมีในหลากหลายแขนงอีกด้วย

จุดเริ่มต้นในการเรียนเคมี

ถ้าย้อนกลับไปสำหรับผม เราได้เรียนรู้เคมีจริงๆ คือตอนมัธยมปลายครับ การที่เราจะมองภาพชัดว่าอนาคตนักเคมีเป็นอะไรทำอะไร ตอนนั้นไม่รู้เลย ถ้าพูดตามตรงคือจับพลัดจับผลูด้วยนะครับ คือตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเริ่มจากการเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วการเลือกสาขาวิชาสมัยนั้นไม่ได้เลือกตรงเหมือนในปัจจุบันนี้ เลือกหลังจากที่เรียนมาแล้วประมาณปีนึงนะครับ ตัวที่เป็นเกณฑ์หลักคือคะแนนที่เลือก แล้วเคมีเป็นสาขาที่ท็อปฮิตที่สุด เพราะว่าหางานง่าย จึงเป็นสาขาที่ต้องเกรดดี ตอนนั้น พ.ศ.2525 หลายคนยังไม่เกิด สมัยที่ผมเริ่มเข้าเรียนงานหายากมาก สมัยนั้นใช้คำว่าเตะฝุ่น เพราะจบมาแล้วหลายปีก็อาจจะหางานไม่ได้ แล้วการเรียนเคมีคือสามารถการันตีได้ว่าจะได้งานค่อนข้างดี แล้วอีกหนึ่งปัจจัยที่ผมเรียนเคมีได้ดี สำคัญที่สุดคือครูคนแรกที่สอนเคมีเรา ตอนเรียนวิชาเคมีตั้งแต่มัธยมปลาย เขาทำให้เรารู้สึกชอบและเข้าใจในเนื้อหา ถ้าเทียบกับวิชาอื่นก็ชอบที่สุดแล้วครับ แล้วก็เรียนมาเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข
หนึ่งปัจจัยที่ผมเรียนเคมีได้ดี สำคัญที่สุดคือครูคนแรกที่สอนเคมีเรา
ตอนเรียนวิชาเคมีตั้งแต่มัธยมปลาย เขาทำให้เรารู้สึกชอบและเข้าใจในเนื้อหา

งานของอาจารย์เคมี

การเป็นอาจารย์นะครับ มันมีงานหลากหลายอย่างที่ต้องทำ เรื่องงานหลักแน่นอนคือการสอนหนังสือ การสอนมีหลายรูปแบบ เช่นแบบที่เป็นห้องเลคเชอร์ หรือการสอนเด็กปริญญาโทปริญญาเอกที่ฝังตัวกับเราทำวิจัยกับเรา จะเป็นการสอนอีกแบบหนึ่งซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ต้องฝังตัวติดกับอาจารย์ อาจารย์ทำอะไรทำด้วย เรียนรู้จดจำพฤติกรรมหลายอย่างของอาจารย์ ตัวผมเองได้ซึมซาบจากอาจารย์ของผมอีกทีหนึ่งเหมือนกันนะครับ คือการเรียนแบบปริญญาโทปริญญาเอกจะเป็นลักษณะแบบนั้นจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของลูกศิษย์เช่นกัน

เคมีระดับสูงมีสาขาอะไรบ้าง

เคมีแบ่งเป็น 4 สาขาด้วยกัน สาขาแรกก็มีสาขาที่ผมสอน คือสาขา เคมีฟิสิกส์ แล้วก็มี เคมีอินทรีย์ เคมีอนินทรีย์ แล้วก็เคมีวิเคราะห์ แบ่งเป็น 4 สาขาหลัก ซึ่งอาจารย์ของแต่ละสาขาก็จะมีบุคลิกแตกต่างกันครับ ถ้าเป็นสาขาเคมีฟิสิกส์แบบผมคือ ไม่ใช่คนที่ชอบเข้าสังคมมาก ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง ชอบพยายามทำความเข้าใจกับชีวิต สมัยนี้เขาเรียกว่าเป็นพวก Introvert น่ะครับ เราจะไม่ค่อยพูดกันเยอะ ไม่ค่อยประชุมกันบ่อย เราเห็นหน้าคุยกัน 3 คำตกลงทำงานได้แล้วแยกย้ายไปทำงานจบ บางสาขาต้องประชุมถกเถียงต้องคุยกัน มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา

ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข
ผมเองมองว่าตอนนี้เราประสบปัญหามีคนที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์
โดยเฉพาะยิ่งเคมีอย่างน้อยลง

จุดเริ่มต้นและพัฒนาการของชุดทดลองเคมีย่อส่วน

ผมได้มีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นนายกสมาคมเคมีฯ สนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องความคิดเคมีแบบย่อส่วนมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปี แต่มันเกิดขึ้นมานานมากตั้งแต่สมัยผมเป็นนิสิต เรียกว่า Semimicroscale คือว่าเราพยายามจะลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในตัวอย่าง แต่ว่าสิ่งที่นักเคมีหรือครูสอนเคมีเป็นห่วงคือ หนึ่ง ถ้าเราลดปริมาณสารแล้วปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ สอง เมื่อผลออกมาแล้วมันจะมองเห็นผลชัดหรือไม่ชัด เพราะว่าพอปริมาณสารน้อยสีมันอาจจะจางมองยาก แล้วเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องแก้วสมัยนั้นมันไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทำอะไรเล็กๆ ได้ มันต้องใหญ่ๆ คืออยากจะเปลี่ยนแต่ว่าเปลี่ยนไม่ได้สักทีเพราะติดตรงนี้อยู่ จนต่อมาอุปกรณ์ต่างๆ มันพัฒนามากขึ้น อย่างพวกพลาสติกโพลิเมอร์พัฒนาไปเยอะมากนะครับ สมัยก่อนจะทำอุปกรณ์แท่งเล็กๆ แล้วสามารถคงรูปอยู่นานๆ มันทำไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันทำได้ดี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้มีการสะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลาเนิ่นนานนะครับนี่คือที่มาที่ไปของเคมีย่อส่วน แล้วท่านศาสตราจารย์ ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ก็ถือว่าเป็น Pioneer ของประเทศไทยที่ทำในเรื่องนี้ครับ

เด็กไม่ชอบเรียนเคมี ชุดทดลองเคมีย่อส่วนช่วยได้

จากมุมมองในฐานะของสมาคมเคมีฯ ผมเองมองว่าตอนนี้เราประสบปัญหามีคนที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะยิ่งเคมีอย่างน้อยลง ทราบว่าบางหลักสูตรปิดตัวไปเพราะไม่สามารถหานักศึกษาเรียนได้นะครับ สาเหตุเพราะ Generation มันเปลี่ยน แนวความคิดของคนเปลี่ยน คนอยากทำงานภาคอุตสาหกรรมมีน้อยลง อยากทำอาชีพอิสระมากกว่า ต่างจากสมัยก่อนที่ทุกคนมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรม พอ Generation มันเปลี่ยนไปแล้วประกอบกับการเรียนการสอนเคมีในโรงเรียนมัธยมประสบปัญหา จากการที่ได้พูดคุยกับนิสิตปี 1 พบว่าหลายคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการทางเคมีน้อยมาก แล้วส่วนใหญ่เวลาเรียนเคมีคือเรียนแต่ภาคทฤษฎี เรียนในตำรา ซึ่งมันเป็นตัวแปรที่ทำให้คนอยากเรียนวิทยาศาสตร์และเคมีน้อยลง เพราะว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ การเรียนเคมี มันต้องอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจ บางครั้งครูพูดในห้องเรียนไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง ทำไมสีแดงสีส้มสีอะไรไม่รู้ พอมาทำกับมือเห็นกับตามันสามารถทำให้เราเข้าใจ ที่อาจารย์บอกว่าอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ทำให้เราเข้าใจในบทเรียนมากขึ้นทำให้อยากจะเรียนรู้มากขึ้น และที่สำคัญตัวปฏิบัติการเองมันน่าดึงดูด เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เด็กเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผมว่าเราต้องพยายามทำให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
การที่จะทำให้เด็กเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ผมว่าเราต้องพยายามทำให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนปฏิบัติการเคมีมากขึ้น

ลดต้นทุน ลดเวลา ลดภาระครู

ครูเคมี 1 คนต้องดูแลเด็ก 3 ชั้นปีนะครับ ทุกห้องเลย แล้วเวลาจัดแล็บหนึ่งครั้งเด็กเป็นร้อยคนและครูคนเดียว ครูต้องจัดการตั้งแต่สั่งซื้อสารเคมี เตรียมสารเคมี เตรียมห้องปฏิบัติการ ทำเสร็จแล้วก็ต้องจัดการเรื่องของเสียต่างๆ อีกมากมาย แค่แล็บเดียวก็ใช้เวลาและพลังงานเยอะพอสมควรแล้วถ้าหากต้องทำบ่อยๆ ครูก็คงไม่ไหว ยิ่งต่างจังหวัดไกลๆ นะครับโอกาสน้อย โรงเรียนไม่มีห้องปฏิบัติการเคมี ดังนั้นสิ่งที่การทดลองเคมีย่อส่วนสามารถช่วยได้คือ การลดปริมาณสารเคมีลงอย่างมาก สามารถลดภาระการเตรียมสารเคมีลงไปอย่างมหาศาล แล้วไม่ต้องคำนึงถึงของเสีย เพราะว่าเราลดปริมาณสารให้ถึงขั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นครูสบายใจได้ว่าสามารถจัดปฏิบัติการได้บ่อยขึ้นและถี่ขึ้น แล้วอย่างที่บอกครับว่ามันเป็นแบบย่อส่วนไม่ต้องไปทำในห้องปฏิบัติการเคมี มันสามารถทำที่ห้องเรียนได้เลย พอพูดเสร็จครูแจกชุดแล้วเด็กนั่งทำที่นั่นเลย ดังนั้นครูสามารถทำได้ทุกเมื่อทุกเวลา ทำให้เคมีมันน่าเรียนมากขึ้น

นักเคมี อาชีพสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ขณะนี้ประเทศเรายังต้องการนักเคมีจำนวนมาก เรามีการขยายอุตสาหกรรมใหม่ EEC ต้องการบรรจุบุคลากรใหม่ ต้องมีนักเคมีจำนวนมาก จะเรียกว่าถึงขั้นขาดแคลนไหมผมว่าบางครั้งมันเข้าขั้นขาดแคลนแล้วนะครับ เอาแค่ง่ายๆ ว่าการที่เราจะส่งอาหารอย่างหนึ่งไปต่างประเทศมันต้องมีการวิเคราะห์ ก่อนจะส่งออกไป เพราะว่าคู่ค้าเราต้องการข้อมูล แล้วตัวแล็บที่มีมาตรฐานพอที่สามารถทำการวิเคราะห์ได้มีไม่มาก แล้วถ้ายิ่งอยู่ห่างไกลกว่าจะเดินทางมาส่งสารตัวอย่างถึงในเมืองมันใช้เวลามาก เราจึงต้องกระจายศูนย์ออกไปให้มากที่สุด เศรษฐกิจจะได้พัฒนาต่อไปได้

ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข
ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข
ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข
ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย พาราสุข

ได้เจาะลึกถึงมุมมองของนักเคมีผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเคมีมาอย่างยาวนาน หลายคนคงพอมองเห็นภาพรวมของการเรียนการสอนเคมี ที่ต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ เพื่อปูทางความสนใจให้กับว่าที่นักเคมีในอนาคต โดยต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงาน ทั้งบุคลากรครู หน่วยงานด้านการศึกษา ภาคเอกชน จนสามารถผลักดันกลไกการส่งเสริมการเรียนเคมีได้อย่างยั่งยืน อย่างเช่น การใช้ชุดทดลองเคมีย่อส่วน ที่ผ่านการคิดค้นพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยทางสมาคมเคมีจะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนเคมีตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงของการเรียนการสอนเคมีของประเทศไทยต่อไป

แชร์บทสัมภาษณ์นี้