โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว”
ขจัดขีดจำกัด ‘ย่อส่วน’ เพื่อ ‘ขยายผล’ การศึกษาวิทยาศาสตร์
ด้วยเทคนิคที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโก
ปัญหาการเรียนการสอนวิชาเคมีในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวนมากยังขาดโอกาสทำการทดลอง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์เครื่องแก้ว และสารเคมี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ผู้สอนยังต้องใช้เวลาในการเตรียมการทดลอง และจัดการหลังจากการทดลองเสร็จ รวมทั้งมีความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงเนื่องจากธรรมชาติของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว โรงเรียนจำนวนมากจึงไม่สามารถทำการสอนวิชาเคมีในลักษณะปฏิบัติจริงได้ครบถ้วน ทำให้ผู้เรียนขาดการเรียนรู้เคมีภาคปฏิบัติ และขาดแรงบันดาลใจในการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับสูงต่อไป
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จัดตั้งโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเคมีในประเทศไทย ผ่านการทดลองเคมีด้วยเทคนิคการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) โดยเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนได้สนับสนุนหลักสูตรนี้ในระบบการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) เข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการในปี พ.ศ. 2564 เพื่อขยายผลให้กับครูและนักเรียนทั่วประเทศ
ปัจจุบัน มีครูอาจารย์ที่ผ่านการอบรมในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน จากกว่า 1,000 โรงเรียน เกิดครูต้นแบบวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง 132 ท่าน และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงแล้วทั้งสิ้นกว่า 470,000 คน
กิจกรรมหลักของโครงการฯ ได้แก่
- การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่คณาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา
- การประกวดการประยุกต์รูปแบบการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST Award)
- การอบรมครูต้นแบบเพื่อพัฒนาวิทยากรให้มีศักยภาพพร้อมที่จะเผยแพร่เทคนิคให้กับคุณครูท่านอื่นๆ ต่อไป
- การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ และสื่อการเรียนการสอนเพื่อเผยแพร่ความรู้ ผ่านเว็บไซต์www.DowChemistryClassroom.comและช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ