ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

ลดสเกล ลดต้นทุน ลดอันตราย ลดช่องว่างทางการศึกษา ด้วยการทดลองเคมีแบบย่อส่วน

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเคมีคนสำคัญที่เป็นผู้ริเริ่มการทดลองเคมีย่อส่วน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งผู้สอนและผู้เรียน จนสามารถต่อยอดขยายผลให้ครูและนักเรียนทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการเรียนวิชาเคมีให้ทั้งสนุก ประหยัด ปลอดภัย และเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

จุดเริ่มต้นในการเรียนเคมีของอาจารย์

ตอนมัธยมปลายตัดสินใจเรียนวิทยาศาสตร์โดยที่ไม่รู้หรอกว่าอาชีพจะเป็นยังไง ตอนสอบเอ็นทรานซ์ก็เลือกคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ พอเรียนไปเราก็มีความรู้สึกว่าเคมีมันเข้าใจมากกว่าฟิสิกส์มากกว่าชีวะ ปีที่สองก็เลยเลือกภาคเคมี ไม่รู้เหมือนกันว่าจบไปแล้วไปทำอะไรจนกระทั่งพอเรียนจบไปยังหางานทำไม่ได้ เพราะว่าสมัยนั้นปี พ.ศ. 2516 อุตสาหกรรมยังเป็นแบบพื้นบ้านยังไม่ได้เป็นปิโตรเคมี เราไปสมัครงานที่ไหนก็จะรับแต่ผู้ชาย ก็เลยตัดสินใจเรียนปริญญาโทต่อที่มหิดล จบมหิดลปี พ.ศ. 2518 ก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเคมี จุฬาฯ พอเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เราก็คอยคุมห้องแล็บ แล้วมองเห็นว่าโอกาสเกิดอันตรายมันมี ช่วงนั้นพอดีได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยไประดับนึง พอไปเรียนที่อเมริกาเลยรู้ว่าเขาแตกต่างกับเราเลยเพราะเขามีโปรแกรมด้านความปลอดภัย ส่วนไทยเรายังไม่มีอะไรเลย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

เริ่มต้นสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทดลองเคมี

เราเห็นแล้วว่าการทำงานในห้องปฏิบัติการมันมีอันตรายหลายอย่าง อย่างภาควิชาเคมีต้องให้บริการนิสิตปีละ 3,000 คนที่เข้ามาทำแล็บ ในหนึ่งสัปดาห์ เช้าบ่าย เวียนเข้ามาเต็มไปหมด เลยมีความรู้สึกว่าเราน่าจะเปลี่ยนวิธีการอะไรไหมที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็เลยขอเงินทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น สกสว. เราก็เลยทำโครงการปฏิบัติการเคมีเพื่อความปลอดภัยและการลดมลพิษ มี 7 มหาวิทยาลัยนักวิจัยทั้งหมด 14 คน ก็สกรีนนิ่งกันว่าแล็บแบบนี้จะสอนเรื่องนี้มีอะไรที่ทำให้มันปลอดภัยกว่าเดิม

ลดปริมาณ ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยง แต่ได้ผลการทดลองเหมือนเดิม

ความอันตรายของสารจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่สัมผัส ฉะนั้นถ้าเราลดปริมาณลงไปพันเท่าความเสี่ยงก็ลดลง ซึ่งอาจารย์ถือว่าสารเคมีทุกตัวอันตรายทั้งสิ้นเพียงแต่ว่ามันมากน้อยแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเลือกใช้สารที่อันตรายน้อยลง เพื่อให้ความเสี่ยงลดลง วิธีการที่เราควรจะต้องมองก็คือการลดสเกล ซึ่งเราสามารถลดสเกลลงร้อยเท่าถึงพันเท่าได้เลย แล้วทำปฏิบัติการแค่เป็นหยดก็พอ แต่การจะทำตรงนั้นได้เราต้องออกแบบ ซึ่งการที่เราจะลดสเกลลงให้เป็นปริมาณน้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นมิลลิลิตรหรือเป็นหยด จริงๆ แล้วจำนวนโมเลกุลมันเป็นล้านๆ นะคะ เพราะฉะนั้นในแง่ของการเกิดปฏิกิริยามันยังเกิดเหมือนเดิมเลย อันตรายของมันก็เหมือนเดิมนะคะไม่ได้เปลี่ยนแปลง สารที่มันกร่อนมันก็ยังกัดกร่อน แต่พอเป็นหยดมันล้างได้ง่ายเอาออกได้ง่าย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

ข้อดีของการทดลองแบบย่อส่วน

ข้อดีของการลดสเกล อันดับหนึ่งเลยคือเรื่องลดความเสี่ยง คนที่ทำต้องหายใจใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นระหว่างทำการทดลองสารเคมีก็เข้าร่างกายไปโดยอัตโนมัติค่ะ นี่คือสาเหตุที่ทำไมต้องใส่หน้ากาก แต่หน้ากากผ้าก็ไม่ได้ช่วยอะไรหรอกค่ะ เพราะว่าสารเคมีมันเป็นไออยู่ในบรรยากาศ มันเข้าไปพร้อมการหายใจ แล้วต้องมีแผ่นกรองซึ่งก็อึดอัดหายใจก็ลำบาก คนที่ใช้ต้องมีการฝึกนะคะไม่ใช่อยู่ๆ ทุกคนมาใส่ได้เลย แล้วก็มีราคาแพงด้วย ถ้ามีนักเรียน 3,000 คนจะหามาใส่ทุกคนเลยมันก็ไม่ไหว อาจารย์ก็เลยมองมุมกลับกันว่าแทนที่เราจะป้องกันตัวเอง ถ้าเราทำให้บรรยากาศในห้องทดลองบริสุทธิ์เราก็ไม่ต้องสวมพวกนี้เลย เพราะฉะนั้นการที่เราลดปริมาณสารเคมีในการทดลองลงไปร้อยเท่าหรือพันเท่า มันก็จะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดว่าเป็นอันตราย

ลดสารเคมี ลดอันตราย ลดช่องวางทางการศึกษา

ถ้าเราทำให้การทดลองปลอดภัย เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาอุปกรณ์ป้องกันราคาสูงมาใช้ อย่างในโรงเรียนยิ่งแย่กว่าในมหาวิทยาลัย เพราะโรงเรียนได้รับงบประมาณน้อยอยู่แล้ว แล้วครูก็สอนหลายวิชา ไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ไม่มีเวลาหรืองบประมาณที่จะมาใส่ใจเรื่องพวกนี้ หากสอนโดยมีการทดลองก็อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ง่ายๆ ครูส่วนใหญ่ก็เลยไม่สอนการทดลอง ด้วยความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งปัญหานี้อาจารย์ก็คุยกับหลายหน่วยงาน คุยกับผู้ใหญ่หลายท่านทุกคนก็เห็นด้วยกับการทดลองเคมีแบบย่อส่วน แต่ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คืองบประมาณในการผลักดันโครงการ ต่อมาอาจารย์ได้พบกับคุณภรณี กองอมรภิญโญ จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ก็คุยเรื่องนี้ให้ฟังเพราะเรารู้ว่าบริษัทดาวให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย แล้วก็เป็นบริษัทชั้นนำของโลกทางด้านวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

จุดเริ่มต้นโครงการห้องเรียนเคมีดาว

พอได้คุยกับคุณภรณีก็เข้าใจว่าท่านก็คงเก็บไปคิดหนักว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่คำหนึ่งที่คุณภรณีพูดอาจารย์จำได้ว่า ท่านบอกว่าดีเหมือนกันเพราะว่าหลายๆ โรงเรียนมักจะทำโครงการของบประมาณเพื่อไปสร้างห้องแล็บ แต่พอทำไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ เพราะครูสอนการทดลองไม่ได้ อาจจะเพราะไม่มีครูที่จบด้านนี้โดยตรง ครูไม่มีเวลาเตรียมตัวเพียงพอ เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการเรียนการสอนแบบพร้อมใช้ ครูไม่ต้องเตรียม ใช้ได้เลย ก็เลยคิดกันว่าถ้าเราลดสเกลลงและออกแบบการทดลองให้เหมาะสม และให้ครูใช้ได้เลย ครูก็น่าจะทำได้ ก็เลยเกิดเป็นชุดทดลองเคมีย่อส่วนที่เราได้ทดลองทำอุปกรณ์กันขึ้นมา แล้วก็ตั้งขึ้นมาเป็นโครงการห้องเรียนเคมีดาว ตอนที่ตกลงทำกันคือปลายปี พ.ศ.2556 เริ่มอบรมครูรุ่นแรก ปี พ.ศ.2557 ที่ระยอง

สานต่อให้เกิดความยั่งยืน

เมื่อได้เริ่มต้นแล้ว เราก็คำนึงถึงความต่อเนื่อง แล้วอาจารย์ก็อยากให้ครูมีแรงจูงในมากขึ้น คือไม่ใช่ว่าแค่ได้มาเรียนรู้แล้วก็ดีแค่นั้น ก็เลยคุยกันว่าโปรแกรมโครงการห้องเรียนเคมีดาวควรจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง นอกจากเข้าอบรมแล้วเราอยากจะเหมือนกับท้าทายครูให้ออกแบบการทดลองต่อยอดจากที่ได้เรียนรู้ผ่านการอบรม แล้วเราจัดการประกวดให้รางวัลเพื่อดึงดูดครูให้ยังคงคิดสร้างสรรค์งานต่อ ทางสมาคมเคมีฯ ก็เลยตั้งเป็นรางวัลครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบเป็นการให้เกียรติเชิดชูครู คนไหนส่งประกวดเข้ามาเราจะคัดเลือกขึ้นมาปีละ 30 คนเป็นครูต้นแบบ แล้วเราก็อบรมเขาเพื่อให้เป็นผู้นำในการขยายผลให้กับโรงเรียนอื่นๆ เป็นการขยายเครือข่ายการทำงาน ครูเหล่านี้ก็จะเป็นเทรนเนอร์ ซึ่งเราจะมีค่าตอบแทนให้ แล้วครูที่มาร่วมโครงการก็จะกลายเป็นเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือกัน ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ทำให้เราสามารถเริ่มต้นโครงการและสานต่อได้อย่างยั่งยืนมาถึง 10 ปี

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์

ที่ท่านศาสตราจารย์ศุภวรรณ เล่ามาทั้งหมดนี้ คือต้นกำเนิดของชุดทดลองเคมีย่อส่วน และโครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายผลโครงการในหลายโรงเรียนทั่วประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และเอเชีย จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องการออกแบบการทดลองที่ปลอดภัย กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการศึกษา ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรสามารถเข้าถึงการเรียนเคมีได้อย่างเท่าเทียมขึ้น เป็นการรวมแรงร่วมใจกันของหลายหน่วยงาน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม ซึ่งคงไม่ไกลเกินฝันของคนไทยอย่างแน่นอน

แชร์บทสัมภาษณ์นี้