เคมีผีบอก: แก้ไขความเข้าใจผิดจาก Pseudoscience ด้วยความรู้เคมี
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดนั้นถูกพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งนั้น “ไม่เป็นความจริง”
สิ่งที่ทุกคนเข้าใจ และอาจได้รับการยืนยันแล้วจากคนยุคก่อน วันนี้หลักการนั้นก็อาจจะกลับกลายเป็น “ข้อมูลเท็จ” ได้เสมอ แล้วเราจะยังสามารถเชื่อทุกสิ่งรอบตัวเราได้หรือไม่ ?
หลักการบางอย่างที่คนโด่งคนดังว่าไว้นั้นก็อาจไม่เป็นความจริง อาหารที่เรากินกันบางทีก็อาจจะไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด หรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเครื่องตรวจจับระเบิดที่ถูกใช้มายาวนานก็อาจเป็นการเข้าใจผิด นั่นอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของหลักการที่มีชื่อว่า “วิทยาศาสตร์เทียม” หรือ “Pseudoscience”
รู้จักกับวิทยาศาสตร์เทียม
เชื่อว่าใครบางคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจยังมีความสงสัยอยู่ว่า “อะไรคือ Pseudoscience?” เราจะเล่าให้ฟัง
Pseudoscience หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า “วิทยาศาสตร์เทียม” เป็นคำอธิบายของหลักการที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าเป็นความจริง แต่ถูกอ้างอิงด้วยบางหลักการแบบรีบสรุปผลการทดลองอย่างเร่งด่วนจากผลลัพธ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีการ, ทฤษฎี, ระเบียบวิธี, สมมติฐาน, ข้อมูลเพิ่มเติม หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นกระบวนการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มันจึงนำไปสู่การเกิดข้อมูลผิด ๆ มากมายที่ส่งผลเสียโดยกว้างต่อบุคคลและสังคม
เพราะเหตุนี้ Pseudoscience เลยมีความน่ากลัวจากผลกระทบเป็นวงกว้างของมัน เนื่องจากข้อมูลบางอย่างที่ไม่เป็นจริงนั้นอาจทำให้ผู้คนบางกลุ่มเกิดความเสียหาย หรือในบางสถานการณ์อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงถึงชีวิตขึ้นได้ จากข่าวสารที่ไม่มีมูลเหตุที่ชัดเจน
วิทยาศาสตร์แท้เกิดจากการตั้งคำถาม การพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น เพื่อมายืนยันว่าทฤษฎีถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์มักมาคู่กับ “การพิสูจน์ความเป็นเท็จ (Falsifiability)” ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิสูจน์ว่าแต่ละทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ถูกต้องหรือไม่ โดยอาศัยการตั้งสมมุติฐานว่ามันเป็นเท็จแล้วจ้องจับผิดมัน โดยหลักการนี้ใช้ได้กับทุกทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ซึ่ง การพิสูจน์ความเป็นเท็จนั้นไม่ได้เป็นการบอกว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ผิด แต่เป็นการบอกว่าสิ่งนั้นสามารถผิดได้ ไม่ว่าจะมาจากวิธีการพิสูจน์ที่แตกต่างออกไป หรือช่วงเวลาในการพิสูจน์ที่ไม่ตรงเดิมก็ตาม
ในทางกลับกัน วิทยาศาสตร์เทียมนั้นเริ่มจากการยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีนั้นไปก่อน จึงค่อยมาหาหลักการมาเชื่อมโยงแนวคิดนั้นในภายหลัง และซึ่งหลักการของ Pseudoscience เป็นอะไรที่ควรระมัดระวัง
ตัวอย่างของวิทยาศาสตร์เทียม
หนึ่งใน Pseudoscience ที่ผู้คนส่วนมากให้ความสนใจนั้น ได้แก่เรื่องของ “มะนาวโซดาฆ่ามะเร็งได้จริงหรือไม่?” ที่ในช่วงเวลาหนึ่งถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากการเชื่อมโยงเข้ากับการศึกษาโดยหน่วยงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ อย่างวารสารวิชาการ Agricultural and Food Chemistry เมื่อปี ค.ศ. 1998 และผลการศึกษาจากกระทรวงการเกษตร สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2001 ที่พบว่าในมะนาวและเลมอนนั้นมี “สารลิโมนอยด์” สารที่มีสรรพคุณในการต้านทานการกลายพันธุ์และช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกกัดกินได้
สารลิโมนอยด์ (Limonoids) ประกอบไปด้วย สารโอบาคิวโนน (Obacunone) และสารดีออกซีลินีน(Deoxylimonin) ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของส่วนประกอบที่มีสรรพคุณในการช่วยลดขนาดและยับยั้งการเกิดเนื้องอกได้ประมาณ 25-50% สารลิโมนอยด์เคยถูกทดลองจริงด้วยปริมาณ 100 โมโครกรัม/มิลลิลิตร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สารลิโมนอยด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งรังไข่ได้ และยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมได้อีกด้วย*
(ที่มา: https://www.krungthai-axa.co.th/health-advisories/lime-cancer)
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมะนาว, เลมอน, หรือของกินเปรี้ยว ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยสารลิโมนอยด์ที่ท่วมท้นมากแค่ไหน ก็ยังไม่มีการทดลองใดที่พิสูจน์ออกมาว่า “สามารถป้องกันและทำลายการเกิดเซลล์มะเร็งได้แต่อย่างใด”
อีกหนึ่งตัวอย่างที่อาจจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดนั้นก็คือ “การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy)” ก็คือการสร้างแร่ธาตุใหม่ด้วยฝืมือมนุษย์ โดยมีต้นแบบมาจากแร่ธาตุที่เกิดจากธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งการเล่นแร่แปรธาตุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในยุคสมัยก่อน เพราะเป็นการสร้างสมมุติฐานเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่มีวิธีในการยืนยัน
การเล่นแร่แปรธาตุเป็นสิ่งที่มีมาอย่างยาวนานมาก แต่วิธีในยุคสมัยก่อนนั้นไม่เหมือนกับยุคสมัยนี้ แร่ธาตุที่เกิดจากการวิธีการเล่นแร่แปรธาตุในยุคโบราณนั้นถูกพิสูจน์ได้ในหลายครั้งว่ามันไม่ใช่ของจริง แต่ด้วยการพัฒนาและความก้าวหน้าของยุคสมัยทำให้การสร้างแร่ธาตุที่ต้องการด้วยฝีมือมนุษย์ก็อาจจะทำได้ แต่ด้วยเทคนิคเฉพาะทาง เช่น การทำแร่เพชรสังเคราะห์ (Synthetic Diamonds) ที่ในยุคสมัยก่อนอาจจะเป็นการจำลองแร่ธาตุชนิดใดชนิดหนึ่งที่นำมาปรุงแต่งและใช้การยืนยันปากเปล่าว่า แร่นั้นคือแร่เพชรของจริง แต่ในปัจจุบันนี้มีกระบวนการที่สามารถสรรค์สร้างแร่ธาตุเพชรสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติที่เหมือนกับเพชรแท้ทุกประการได้
ทำไมคนเราจึงเชื่อวิทยาศาสตร์เทียม
เพราะเหตุใด Pseudoscience ถึงได้รับความเชื่อมั่นอย่างมาก แม้ว่าจะมีข้อพิสูจน์และหลักฐานมากมายออกมายืนยันว่าสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง?
จะตอบคำถามนี้ได้ เราคงต้องพาย้อนไปถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์โดยทั่วไปเลยว่า การเอาตัวรอดนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ดิ้นรนและโหยหาอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ล้วนต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้ ไม่ว่าจะป่วยหนักสักแค่ไหนก็ตาม
ตัวอย่างความเจ็บป่วย เช่น โรคมะเร็ง ที่การรักษาในปัจจุบันก็อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่วิธี ที่สามารเป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้ บางคนจึงมีความเชื่อมั่นในเรื่องที่ทำให้ตัวเองสามารถชีวิตรอดต่อไปได้เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่ามันจะเป็นข้อมูลที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลักการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่มันก็เป็นทางเลือกที่ผู้คนที่ประสบปัญหานั้นก็มิอาจปฏิเสธได้
การหลอกลวงด้วยหลักการทางเคมีนั้น ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ชั้นเลิศ เนื่องจากศาสตร์เคมีนั้นมีชั้นเชิงและวิธีการทำความเข้าใจที่ซับซ้อนประมาณหนึ่ง การยกเรื่องราวทางเคมีมาเชื่อมโยงจึงเป็นเรื่องที่ได้ผลกับผู้คนจำนวนมาก ผู้คนจำนวนมากจึงหลงเชื่อข้อมูลที่ผิดจากการเสพสื่อ โดยเฉพาะที่มีการอ้างอิงถึงหลักการเคมี ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าข้อมูลทั้งหมดที่เสพนั้นเป็นความจริง และนั่นก็จะเข้าข่ายการทำงานของหลัก Pseudoscience โดยทันที ทุกคนไม่ควรเชื่อข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เร็วเกินไป แม้ว่าข้อมูลจะมาจากสื่อวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ มาจากหมอ หรือเป็นข้อมูลที่ถูกอ้างอิงด้วยหลักเคมีที่น่าเชื่อถือก็ตาม
จริงอยู่ที่หลักการเคมีทั้งหมดนั้นมีมากมายและซับซ้อนเกินกว่าจะหาข้อพิสูจน์ด้วยตนเองได้ แต่การที่เชื่อมั่นในหลักเคมีโดยปราศจากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือนั้น อาจมีผลกระทบที่อันตรายร้ายแรงอย่างมาก เพียงเพราะไม่ตรวจสอบความถูกต้องจากสื่อนั้นก่อนเชื่อถือเลยก็เป็นได้
อย่าโดนวิทยาศาสตร์เทียมหลอก
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ถ้าจุดหมายของเรื่องราวนั้น ก่อให้เกิดผลในแง่ลบและส่งผลร้ายต่อผู้รับสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ปฏิบัติตามและเกิดผลเสียต่อตัวผู้กระทำเอง ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม Pseudoscience จะเป็นสิ่งที่จะไม่มีทางหายไป เมื่อวิวัฒนาการของมนุษย์พัฒนาการมากขึ้นไปเรื่อย ๆ การใช้หลักการที่ด่วนสรุปแบบ Pseudoscience ก็ยังเป็นวิธีการที่ง่ายดาย ในการชักจูงผู้คนให้หลงเชื่อได้อีกเป็นจำนวนมากอยู่ดี ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
การตั้งคำถามหรือการนำข้อมูลที่รับฟังมาคิดต่อนั้น เป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นกับทุกสิ่ง รวมถึงทุกทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ว่าแหล่งอ้างอิงนั้นจะมาจากแหล่งใดก็ตาม ถ้าข้อมูลต่าง ๆ ที่ทุกคนได้รับจากการเสพสื่อ เป็นข้อมูลที่เปิดช่องว่างให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อไปได้นั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ผู้อ่านสามารถตั้งสมมุติฐานเพื่อหาวิธีพิสูจน์ข้อมูลนั้นต่อได้ และอาจรวมถึงการป้องกันตัวเองจากความไม่จริงของเรื่องราวที่เล่ามาได้อีกด้วย
ภูมิรพี ศิริพัฒนสารกิจ (เฟี้ยต The Principia)
แชร์เรื่องเคมีสุด FUN!