เคมีใกล้ตัว ที่เห็นได้ในสื่อ

เคมีใกล้ตัว ที่เห็นได้ในสื่อ

หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวเรา ล้วนต้องมีเคมีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบอย่างแน่นอน หากจะกล่าวว่า “เคมี…มีอยู่รอบตัว” คงจะดูไม่เกินจริงนัก มากไปกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นในอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเอง ก็มีสารเคมีที่กำลังทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยให้เราได้ดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้อย่างราบรื่น

แน่นอนว่าเคมีนั้นใกล้ตัวกว่าที่คิด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาในยามเช้า แล้วหยิบน้ำดื่มสักแก้ว พร้อมกับมองและคิด แบบวิทยาศาสตร์ ก็จะพบว่าน้ำ H2O ที่เราดื่มนั้น มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ อะตอมของไฮโดรเจน H และ ออกซิเจน O ซึ่งเป็นหนึ่งในสารประกอบอินทรีย์ที่สำคัญและเป็นสารที่มีขั้ว การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวันจะส่งผลให้ ร่างกายสดชื่น ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดี และยังช่วยให้ผิวของเรามีความชุ่มชื้นสุขภาพดีอีกด้วย แต่ในทางกลับกัน อาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้น หากเป็นประเภทที่มีสารเคมีในกลุ่มไขมันสูง ถ้าเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายด้วยเช่นกัน

แต่ทว่า…หากขยับเรื่องราวของเคมีใกล้ตัวนั้น ไกลออกมาอีกสักหน่อย จะพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข่าวคราวความอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมีอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานพลุระเบิด รถบรรทุกแก๊สรั่วไหล ไฟไหม้โรงงาน สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงอย่างไซยาไนด์ หรือแม้แต่กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสารเคมีที่มีพิษเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ อันส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา
แล้วถ้าหากเราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ข่าวโรงงานผลิตพลุดอกไม้ไฟระเบิด

ยกตัวอย่างข่าวดังใกล้ตัวล่าสุด โรงงานผลิตพลุหรือดอกไม้ไฟระเบิด ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมไปถึงโรงงาน อาคาร บ้านเรือนต่าง ๆ ในละแวกพื้นที่ ก็ได้รับผลกระทบและความเสียหายด้วยเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานแห่งนี้

พลุหรือดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง ที่เมื่อเผาไหม้แล้วจะทำให้เกิดแสง สี และเสียง นิยมใช้ในงานเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ทั่วโลก โดยองค์ประกอบพื้นฐานหลัก ประกอบไปด้วย ตัวออกซิไดซ์ (ดินประสิว Potassium Nitrate KNO2 หรือ Potassium Chlorate KClO3) เชื้อเพลิง (ดินปืน ขี้เลื่อย ถ่าน หรือกำมะถัน) และสารที่ทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ (สารเคมีที่มีองค์ประกอบของโลหะอนินทรีย์ เช่น สตรอนเชียมคาร์บอเนต (SrCO3) ให้สีแดง แบเรียมคลอเรต (BaClO3) ให้สีเขียว หรือคอปเปอร์คาร์บอเนต (CuCO3) ให้สีน้ำเงิน ซึ่งสีสันที่เห็นในปัจจุบันมีตั้งแต่สีแดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง เงิน และขาว นอกจากนี้อาจจะมีการผสมพวกแป้งหรือน้ำตาลเข้าไปด้วย เพื่อให้องค์ประกอบทั้งหมดเกิดการจับตัวกันได้ดียิ่งขึ้น

ทำไมพลุถึงระเบิด?

ปฏิกิริยาทางเคมีของพลุหรือดอกไม้ไฟ เริ่มต้นจากการให้ความร้อน ด้วยการจุดไฟที่ชนวนของพลุหรือดอกไม้ไฟ ไฟจะลุกไหม้จนกระทั่งไปถึงบริเวณชั้นของดินปืน จากนั้นเมื่อโพแทสเซียมไนเตรตในดินปืนได้รับความร้อนก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น และปลดปล่อยออกซิเจนออกมา ทำให้ไฟติด นำไปสู่การเผาไหม้และเกิดแรงปะทุ ส่งผลให้ไส้พลุหรือดอกไม้ไฟ พุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ในขณะที่ไส้พลุเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้านั้น ชนวนควบคุมเวลาการระเบิดจะเกิดการเผาไหม้ตามมา เมื่อผสมกับสารเคมีต่าง ๆ ภายในไส้พลุแล้ว จะทำให้เกิดการระเบิด และให้สีสันที่สวยงาม ตามที่เราเห็นบนท้องฟ้านั่นเอง

เมื่อไหร่ที่พลุจะระเบิด? (แบบไม่ได้ตั้งใจจุด)

การที่พลุหรือดอกไม้ไฟจะระเบิดขึ้นได้นั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากกระบวนการผลิต จากการนำไปใช้งาน หรือการจุดในงานต่าง ๆ ด้วยองค์ประกอบของพลุหรือดอกไม้ไฟนั้น ประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีคุณลักษณะพร้อมที่จะเกิดการระเบิดหรือกระจายตัวออกเมื่อเจอความร้อนหรือเจอประกายไฟ ดังนั้นในแง่ของกระบวนการผลิต ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ ในทุกขั้นตอนที่มีการผสมองค์ประกอบต่าง ๆ โดยที่อาจจะเป็นประกายไฟจากการสูบบุหรี่หรือจากไฟฟ้าลัดวงจร แล้วไปกระตุ้นสารเคมีต่าง ๆ ให้พร้อมจะระเบิดตัวเองเมื่อเจอความร้อน จนเกิดการระเบิดขึ้นได้ และยิ่งไปกว่านั้นด้วยความที่เป็นโรงงานผลิต ก็จะมีสารเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การระเบิดที่เกิดขึ้นยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มเข้าไปด้วย นอกจากนี้ในแง่ของการนำไปใช้งานนั้น อาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้เช่นเดียวกัน จากการจุดที่ไม่ระมัดระวัง การประกอบพลุหรือดอกไม้ไฟที่ไม่มีคุณภาพ หรือแม้แต่อันตรายจากเสียงที่ดังเกิดกว่าปกติก็เป็นได้ ดังนั้นอันตรายที่เกิดจากพลุหรือดอกไม้ไฟ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิต หรือแม้แต่ผู้ใช้งาน ก็ควรระมัดระวังและคำนึงความปลอดภัยในมิติต่าง ๆ ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากโรงงานผลิตพลุหรือดอกไม้ไฟระเบิดต้องทำอย่างไร?

ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้น (ซึ่งคาดว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิด) สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องแยกความเกี่ยวข้องระหว่างเรากับเหตุการณ์เป็นอันดับแรก ว่าเราเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะใด เช่น ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน ผู้ผลิต เจ้าพนักงานดับเพลิง พนักงานกู้ชีพ กู้ภัย หน่วยงานท้องถิ่น ผู้อาศัยใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุที่ได้รับผลกระทบ หรือประชาชนผู้ติดตามข่าว ซึ่งถ้าให้อธิบายวิธีการของแต่ละกลุ่มหรือบุคคล คงยากที่จะบรรยายได้หมด แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าโรงงานผลิตพลุหรือดอกไม้ไฟระเบิดแล้วนั้น ย่อมเต็มไปด้วยสารเคมีที่มีความอันตราย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำอันดับแรก ถ้าไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในส่วนใด ควรออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจาก การระเบิดซ้ำ หากมีส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจในพื้นที่หน้างาน ว่าเป็นโรงงานผลิตพลุหรือดอกไม้ไฟ ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เจอความร้อนไม่ได้ หรืออาจจะมีสารเคมีอื่น ๆ อีก ซึ่งต้องติดต่อให้ทางผู้ประกอบการนั้น ๆ มาให้ข้อมูลโดยเร็ว เพื่อให้การเข้าไปปฏิบัติการระงับยับยั้งเหตุ รวมไปถึงการกู้ชีพ กู้ภัย มีความถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด

การประยุกต์ใช้งานพลุหรือดอกไม้ไฟ

นอกจากพลุหรือดอกไม้ไฟจะถูกนำไปใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ แล้ว ในแง่ของวงการบันเทิง อย่างภาพยนตร์หรือละคร ก็มักจะมีฉากระเบิดต่าง ๆ อยู่บ้าง ซึ่งต้องอาศัยการทำ special effect โดยผ่านหลักการทางเคมีเข้าไปร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแรงระเบิด หรือการกำหนดสีของระเบิดที่เกิดขึ้น ด้วยการกำหนดชนิดและอัตราส่วนของสารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบภายใน ยกตัวอย่างเช่น ในภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ที่มีการทำระเบิดประกอบฉาก สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวการทดสอบระเบิดปรมาณู ทีมงานจึงได้มีการเติมสารเคมีบางชนิด อย่างผงอะลูมิเนียม Al และแม็กนีเซียม Mg เข้าไปด้วย ส่งผลให้ภาพยนตร์มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังทำให้เรื่องราวดูน่าติดตามชมมากยิ่งขึ้นด้วย ท้ายที่สุดนี้ เราได้เรียนรู้เรื่องราวของเคมีจากสื่อมากมายรอบตัว ทั้งภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจในภาพยนตร์ พลุและดอกไม้ไฟบนท้องฟ้า รวมถึงความอันตรายและที่มาที่ไปของเหตุการณ์ไม่คาดฝันในข่าว โดยอาศัยหลักสำคัญ คือ การทำความเข้าใจในสื่อที่กำลังรับชม บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้

พิชญุตม์ ธนัญชยะกุล (เต้ย The Principia)

แชร์เรื่องเคมีสุด FUN!