เรียนเคมีอย่างไรให้สนุก

เรียนเคมีอย่างไรให้สนุก

ย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังเป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ วิชาเคมีสำหรับใครหลาย ๆ คนอาจเป็นวิชาที่ดูยาก เรียนทีไรก็ปวดหัวไม่เข้าใจ มีแต่สารเคมีอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ตารางธาตุก็ต้องท่องจำไม่รู้กี่หมู่ กี่คาบ กี่ธาตุ กี่รอบ

แต่บางคนกลับบอกว่าเคมีสำหรับเขาคือเรื่องสนุก เขาสามารถอ่านตำราเคมีได้เป็นวัน ๆ ผสมสารตัวนั้น ตัวนู้น ตัวนี้ไปมา ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความสุข

ทัศนคติที่มีต่อเคมีของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญหลาย ๆ อย่าง เช่น วิธีการจดจำและเรียนรู้ของแต่ละคน เทคนิคการสอนของครูอาจารย์ หรือการเข้าถึงแหล่งของข้อมูล

แต่ในชีวิตประจำของเราล้วนมีเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ทั้งสารเคมีในธรรมชาติ และ สารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น การเรียนเคมีจะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของสารได้อย่างถ่องแท้ เหมือนกับการที่เราเข้าใจตัวเราผ่านวิชาชีววิทยาว่าเราเป็นอะไรถึงป่วย

ดังนั้นผู้สอนจึงต้องหากลวิธีต่าง ๆ ในการเรียนการสอน เพื่อทำให้เคมีกลายเป็นเรื่องสนุก และง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน รวมถึงเพื่อปลูกฝังวิธีคิดและทัศนคติต่อรายวิชาให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่การท่องจำเพื่อไปสอบให้ผ่าน แต่เรียนเคมีเพื่อการเปิดรับองค์ความรู้ทางเคมีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวเรา

เคมี คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาสสาร ทั้งคุณสมบัติ องค์ประกอบ โครงสร้าง และ การเปลี่ยนแปลงของสารเมื่อเกิดปฎิกิริยา องค์ความรู้ทางเคมีได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนอารยธรรมมนุษย์ให้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ประดุจพระเจ้า เราเปลี่ยนแร่ที่ไร้ค่าให้มีมูลค่า พิชิตโรคร้ายด้วยยาเพียงเม็ดเดียว สร้างเปลวเพลิงหลากสีสันเพื่อแต่งแต้มท้องนภา จรรโลงโลกด้วยกลิ่นจากน้ำหอม สิ่งที่สรรสร้างความสุดยอดทั้งหมดนี้คือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เราใช้ในห้องครัว ห้องน้ำ และกิจวัตรประจำวันของเราในแต่ละวัน นั่นคือสารเคมี และปฏิกิริยาเคมีนั่นเอง

อาหาร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงพลังอำนาจของเคมี ที่ได้เปลี่ยนแปลงให้เราไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก นับตั้งแต่เรารู้จักการก่อไฟจากปฎิกิริยาการเผาไหม้เมื่อหลายแสนปีก่อน ทำให้มนุษย์มีเนื้อสุกกิน เราไม่ต้องเปลืองพลังงานในการย่อยอาหารเหมือนสัตว์อื่น ๆ ทำให้เราปลอดภัยจากพยาธิและเชื้อโรคที่หวังเข้ามาทำลายชีวิตเรา นำมาสู่การจัดการวัตถุดิบด้วยวิธีการต่าง ๆ การใช้สับปะรดที่มีเอ็มไซม์ไปหมักเนื้อเพื่อให้เนื้อนุ่มขึ้น การบีบน้ำมะนาวลงบนอาหารทะเลเพื่อดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของสารประกอบเอมีนในเนื้อสัตว์ทะเล การนำเกลือแกง NaCl มาดูดน้ำออกจากอาหารเพื่อถนอมอาหารไว้ใช้กินในช่วงหน้าแล้ง การผสมเกลือโพแทสเซียมไนเตรท KNO3 ในเนื้อสัตว์เพื่อยืดอายุของเนื้อสัตว์ และเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อสัตว์ให้ดูน่ากิน และอีกหลายวิธีการที่มนุษย์นำมาใช้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น ที่เคมีได้เข้ามามีบทบาทในห้องครัวของเรา

นอกจากเรื่องราวในครัวหรือบนโต๊ะอาหารแล้ว เคมียังเข้ามามีบทบาทในเรื่องอื่น ๆ ใกล้ตัวอย่างความสะอาด มนุษย์เราจัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่รักความสะอาดมากชนิดหนึ่ง ไม่ใช่แค่การทำความสะอาดร่างกายเพียงอย่างเดียว ข้าวของเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง ก็ต้องสะอาดหมดจดไร้คราบ หรือสิ่งสกปรกมารบกวนสายตา

สำหรับสัตว์อื่น ๆ วิธีทำความสะอาดของพวกมันคือการเอาน้ำมาล้าง หรือเอาอะไรมาปัดกวาดสิ่งที่รก ๆ พวกนี้ออกไป แต่มนุษย์นั้น นอกจากอุปกรณ์ทำความสะอาดทั่ว ๆ ไป เช่น ไม้กวาด ไม้ปัดขนไก่ ไม้ถูพื้น เรายังมีน้ำยา หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดคราบแน่นฝังลึก ไม่ว่าจะเป็นกรดไฮโดรคลอริก HCl ในน้ำยาล้างห้องน้ำ โซเดียมไฮดรอกไซด์ NaOH ในน้ำยาซักผ้า สบู่ทำความสะอาดร่างกาย และน้ำยาล้างจานที่เป็นอิมัลซิฟายเออร์ ช่วยขจัดคราบไขมันบนจานชาม

มนุษย์เราประดิษฐ์น้ำยาและสารเคมีมากมาย ทำให้บ่อยครั้ง เราอาจเผลอใช้สารเคมี 2 ชนิดที่ไม่ควรเจอกัน ตัวอย่างเช่น ในกรณีหนึ่งที่มีคนผสมน้ำยาล้างห้องน้ำกับน้ำยาซักผ้าขาว เพราะคิดว่าจะทำให้ห้องน้ำขาวสะอาดมากยิ่งขึ้น แต่หารู้ไม่ว่ามันคือการผสมสุดอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากในน้ำยาซักผ้าขาวประกอบไปด้วย โซเดียมไฮดรอกไซด์ NaOH ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเบสแก่ เมื่อเจอกับน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นสารละลายกรดไฮโดรคลอริก HCl ที่เป็นกรดแก่แล้ว จะเกิดปฎิกิริยาการสะเทินของกรดแก่-เบสแก่ ทำให้ได้น้ำ H2O เกลือแกง (NaCl) และความร้อน เมื่อเกลือละลายในน้ำจะแตกตัวให้ไอออนของโซเดียม Na+ และไอออนของคลอรีน Cl-โดยมันจะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงจนมากเพียงพอจะทำให้เกิดแก๊สพุ่งออกมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแก๊สคลอรีน Cl2ที่จัดเป็นแก๊สพิษที่มีความรุนแรงมากเสียจนเคยถูกใช้ในการสังหารหมู่ชาวยิวของนาซีเยอรมัน โดยแก๊สคลอรีนนั้นมีสีเหลืองเขียว มีกลิ่นฉุน เมื่อสูดดมปริมาณมากโดยที่ไม่รู้ตัว อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต

จากที่ได้กล่าวมานั้น เคมีมีความใกล้ชิดเรามากกว่าที่คิด หากไม่รู้เรื่องเคมีมากพอ บางทีอาจเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเราได้ ดังนั้นเองเราจึงสามารถนำกิจวัตรประจำวัน และสิ่งรอบตัวมาใช้เป็นแบบเรียนของวิชาเคมีได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมองเห็นภาพของเคมีได้ชัดเจนมากกว่าการท่องจำในตำราเพียงอย่างเดียว และ ไม่ได้เห็นตัวอย่างที่จับต้องได้จริง

การลงมือปฎิบัติจริง

เคมี นับเป็นอีกวิชาหนึ่งที่ตัวผู้เรียนควรได้ลงมือปฎิบัติจริง เพื่อสร้างความเข้าใจปฎิกิริยาเคมีที่ได้เรียนในชั้นเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ผู้เรียนรู้สึกคุ้นชินกับสารเคมี และวิธีปฎิบัติการทดลองมากขึ้นจากการอ่านในตำราเรียน นอกจากนี้เรายังสามารถบ่มเพาะกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอนได้ ผ่านการวางแผนปฎิบัติการทดลอง หรือ Plan lab ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องทำมาก่อนเริ่มต้นการปฎิบัติการทดลอง

แผนปฎิบัติการทดลอง คือแบบแผน ที่แสดงขั้นตอน และกระบวนการดำเนินงานของแล็บปฎิบัติการ ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องทำก่อนเริ่มปฎิบัติการทุกครั้ง โดยแผนปฎิบัติการนี้ช่วยให้ผู้เรียนทราบกระบวนการขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน เพื่อการวางแผนการดำเนินงานให้มีความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมเพียงพอที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของแล็บปฎิบัติการ คล้ายกับการทำงานในห้องครัวของเชฟมืออาชีพ ที่จะต้องมีการวางแผน แบ่งสัดส่วนการทำงานที่แน่นอน มีการตรวจสอบคุณภาพ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

ในการปฎิบัติงานต่าง ๆ ย่อมต้องมีจุดผิดพลาด ซึ่งจุดผิดพลาดนั้นอาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร หรืออาจเป็นความผิดพลาดที่ทำให้การปฎิบัติงานมีปัญหา การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานเนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างได้ เช่น ปัญหาจากความประมาท หรือการหลงลืมขั้นตอน นอกจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงาน เรายังสามารถทราบจุดผิดพลาดในการปฎิบัติงานได้ ผ่านการตรวจสอบแผนการดำเนินงาน ทำให้สามารถแก้ไข และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้ การปฎิบัติงานในครั้งต่อไปจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การชวนตั้งคำถามเชิงต่อยอด

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญในการสร้างผลงานศิลปะ และความสวยงามซึ่งจรรโลงโลก โดยความคิดสร้างสรรค์จะเป็นตัวทำลายแบบแผนเดิม และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ซึ่งสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนเคมีได้ ผ่านทางการตั้งคำถามชวนคิดเชิงต่อยอด ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดนอกกรอบจากแบบแผนการทดลองเดิม ๆ ในตำรา คล้ายกับการทดลองในกระบะทราย ที่ผู้ทดลองสามารถทำอะไรก็ได้ตราบใดที่มันไม่ได้ขัดต่อหลักการ หรือกฎเกณฑ์ของวิชาเคมี ซึ่งบทบาทของผู้สอนต่อกิจกรรมนี้คือการชวนตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และปรึกษาเพื่อถกเถียง สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการทดลอง

ตัวอย่างเช่น แล็บปฎิบัติการการทำสบู่ ที่เราสามารถชวนผู้เรียนตั้งคำถามว่า ถ้าหากเราเปลี่ยนชนิดของไขมัน หรือเบสที่ทำปฎิกิริยา จะทำให้คุณสมบัติของสบู่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ การตั้งคำถามปลายเปิด นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนมีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เด็กใฝ่เรียนรู้ ในการค้นคว้า และหาวิธีทำการทดลองเพิ่มเติมนอกจากตำราเรียนอีกด้วย

เราสามารถใช้กิจกรรมนี้เพื่อต่อยอดการทดลองอื่น ๆ โดยเราไม่จำเป็นต้องลงมือทำก็ได้ เช่น การทดลองเคมีอินทรีย์ในระดับสูง ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นปฎิกิริยาเคมีระหว่างหมู่ฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในสารไฮโดรคาร์บอน ที่จะเปลี่ยนแปลงสารชนิดหนึ่งเป็นสารอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากต่อการทดลองจริง ทั้งในการจัดหาสารเคมี และความปลอดภัยระหว่างปฎิบัติการ ดังนั้นการชวนตั้งคำถามเพื่อการทดลองในจินตนาการ จะช่วยให้เคมีอินทรีย์กลายเป็นเรื่องสนุก และทำให้ผู้เรียนตระหนักได้ว่า เราสามารถสังเคราะห์สารไฮโดรคาร์บอนกลุ่มหนึ่งจากสารไฮโดรคาร์บอนกลุ่มใดก็ได้ ตราบเท่าที่รู้จักปฎิกิริยาของสารไฮโดรคาร์บอนกลุ่มต่าง ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการสังเคราะห์เอสเทอร์ (R-COOR’) จากสารประกอบอัลคีน (CnH2n) ซึ่งเราสามารถนำอัลคีนไปทำปฎิกิริยาไฮเดรชัน โดยมีกรดเป็นตัวเร่งปฎิกิริยา เพื่อเพิ่มหมู่ไฮโดรเจน และหมู่ไฮดรอกซิลในอัลคีน จนได้แอลกอฮอล์ (R-OH) แล้วนำแอลกอฮอล์ที่ได้ไปทำปฎิกิริยาเอสเทอริฟิเคชันกับกรดคาร์บอกซิลิก (R-COOH) จะได้สารประกอบเอสเทอร์ออกมา

กระบวนการดังกล่าวเป็นหนึ่งในวิธีในการสังเคราะห์เอสเทอร์จากอัลคีน ผู้เรียนอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการสังเคราะห์สารเอสเทอร์ได้ เช่น การทำไฮโดรบอเรชัน-ออกซิเดชัน แทนที่จะใช้ปฎิกิริยาไฮเดรชันเพื่อสังเคราะห์แอลกอฮอล์ เปลี่ยนเป็นแอลดีไฮด์ก่อนที่จะรีดักชั่นให้เป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อจบชั้นเรียนแล้ว ผู้สอนสามารถนำวิธีการของผู้เรียนแต่ละคนมาแสดงหน้าชั้นเรียนได้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีปฎิสัมพันธ์ในชั้นเรียนมากขึ้นกว่าการนั่งฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว และเป็นการวัดผลทางการศึกษาของผู้เรียน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

การเรียนผ่านสื่อบันเทิง

ปัจจุบันสื่อบันเทิงต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อตัวบุคคลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่สื่อต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เราสามารถดูภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือเล่นเกมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ในทุกที่ทุกเวลาที่เราต้องการ การเสพสื่อจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจต่อวิชาชีพที่สื่อถ่ายทอด และเป็นสื่อการสอนได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การดูซีรีส์สืบสวนสอบสวน ทำให้เราสามารถทำความรู้จักสารเคมี และหลักการทางวิทยาศาสตร์ผ่านทริกของคนร้ายหรือหลักฐานที่หลงเหลือที่ถูกอธิบายในช่วงการไขคดี

ภาพยนตร์แนวไซไฟ หลาย ๆ เรื่องล้วนใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างเหตุผลและโลกในภาพยนตร์ เช่น Big Hero 6 ที่ตัวละครหนึ่งใช้การผสมสารเคมี และธาตุต่าง ๆ เป็นอาวุธในการต่อสู้กับวายร้ายในเรื่อง หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เช่น X-Men ที่บ่อยครั้งที่พลังของตัวละคร สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์บางอย่าง หลักการวิทยาศาสตร์ซึ่งแอบแฝงในเนื้อเรื่องหรือเซ็ตติ้งของโลกในสื่อบันเทิง มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ และทำให้ตัวผู้เรียนมองเห็นภาพของสิ่งต่าง ๆ ผ่านการจำลองในสื่อบันเทิงต่าง ๆ

อีกหนึ่งสื่อที่สำคัญต่อการเรียนรู้คือ ภาพยนตร์สารคดีต่าง ๆ ที่นำเสนอองค์ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ และการจำลองด้วยเทคนิค CG ที่ทำให้สิ่งที่ดูยาก ๆ ดูง่ายขึ้นผ่านศาสตร์และศิลป์ของการทำภาพยนตร์ โดยเราสามารถใช้เพื่อเป็นแบบจำลองในการสอนในชั้นเรียนได้

การเล่าผ่านเรื่องราว

งานวิจัยของนักจิตวิทยา Jerome Bruner พบว่าคนเราจะจดจำรายละเอียดได้เพิ่มขึ้น 20 เท่าถ้าหากพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น ๆ โดยการจำลองเป็นอาชีพ หรือบุคคลที่มีบทบาทในเนื้อหาบทเรียนนั้น ๆ เช่น การจำลองเป็นนักปิโตรเคมีที่โรงกลั่นน้ำมัน ในบทเรียนปิโตรเคมี หรือจำลองเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบธาตุ สารประกอบ หรือปฎิกิริยาเคมีบางอย่าง

การสร้างเรื่องราวไม่ได้จำกัดแค่อาชีพ หรือบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ เท่านั้น ยังรวมไปถึงการจำลองเป็นสิ่งที่มีในนิยาย หรือนามธรรมในธรรมชาติ เช่น จำลองเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุเพื่อเรียนรู้กฎทรงมวล จำลองตัวเองเป็นอิเล็กตรอนเมื่อต้องเรียนเรื่องพันธะเคมี จำลองตัวเองเป็นธาตุใดธาตุหนึ่งในการเรียนเรื่องปฎิกิริยาเคมี

การแสดงผ่านบทบาทสมมุติที่กล่าวมานี้ เป็นวิธีการอย่างง่าย ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกผูกพันธ์กับบทเรียนผ่านการเข้าไปใช้ชีวิตในสถานการณ์สมมุติที่ผู้สอนมอบให้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนให้ผู้เรียนศึกษา และทำความเข้าใจบทบาทที่ได้รับในนอกชั้นเรียนได้อีกด้วย

การสร้างความตระหนักต่อผู้เรียน

วิธีการที่ยกมาทั้งหมดนี้จะสัมฤทธิ์ผลไม่ได้เลย ถ้าเราไม่สามารถสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของวิชาเคมี หากผู้เรียนไม่ได้มีทัศนคติที่มองว่าเคมีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต มิใช่เพื่อให้สอบเพียงแค่ผ่านแล้วก็ผ่านเลยไป เป็นอย่างนั้นการเรียนเคมีก็คงจะไม่สนุก เพราะคล้ายกับการถูกบังคับให้ต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ได้สนใจ ซึ่งนำมาสู่การปิดกั้น และเบื่อหน่ายวิชาเคมีในที่สุด

การสร้างความตระหนักให้เห็นว่า เคมีคือสิ่งสำคัญ ที่ผู้สอนจำเป็นต้องถ่ายทอดสู่ผู้เรียน เพราะสารเคมีมีอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่เราดื่ม อากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เครื่องอุปโภคต่าง ๆ ที่เราใช้ ล้วนประกอบขึ้นมาจากอะตอม ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดที่ยังคงแสดงคุณสมบัติทางเคมี การทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความเป็นไปของอะตอมต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้วิชาเคมี จะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจในต่อธรรมชาติที่ละเอียดระดับอะตอม ซึ่งสร้างพันธะ และกลายเป็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา คล้ายกับการที่เราสามารถเข้าใจความสวยงามของงานศิลปะ แล้วทราบถึงรายละเอียดในแต่ละอณูของเม็ดสีบนพื้นกระดาษที่ได้รวมตัวกันเป็นภาพวาดที่สวยงาม

การสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของรายวิชานั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้สอนเพียงอย่างเดียว ยังเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจในวงการศึกษา ที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดการหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของรายวิชาเคมี

เคมีคือสิ่งรอบตัว

การเรียนในชั้นเรียนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่สำคัญของผู้สอน โดยเฉพาะครูอาจารย์ที่ต้องพบกับนักเรียนหรือนักศึกษาจำนวนมาก ที่มีความหลากหลายทั้งประสบการณ์ และทัศนคติที่มีต่อวิชาเรียนที่แตกต่างกัน บางคนมีทัศนคติหรือประสบการณ์ต่อรายวิชาในเชิงบวก ที่จะส่งผลทำให้การเรียนรู้ในรายวิชานั้นได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่นักเรียนบางกลุ่มมีทัศนคติหรือประสบการณ์ต่อรายวิชาในเชิงลบ ทำให้เกิดการปิดกั้น และเป็นการยากในการเรียนรู้

นอกจากนี้วิธีการจดจำของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนจดจำเมื่อเห็นภาพ บางคนจดจำผ่านการท่องจำได้เลย ซึ่งวิธีการจดจำที่แตกต่างกันนี้ ส่งผลทำให้ผู้สอนจำเป็นต้องหาตรงกลาง ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำได้ด้วยกลเม็ด และวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเปิดสื่อ หรือวิดีทัศน์ การเรียนการสอนผ่านเกมต่าง ๆ เช่น เกมส์มือถือ บอร์ดเกมส์ เกมตอบปัญหา

ดังนั้นเองผู้สอนจึงต้องหาจุดร่วม และกลวิธีต่าง ๆ ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจ และเปิดใจที่จะเรียนรู้ เราคงไม่สามารถให้ผู้เรียนนั่งท่อง หรือจดจำตำราทั้งเล่ม เพื่อการวัดผลที่แสนฉาบฉวย เพราะจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ คือการนำองค์ความรู้ที่ได้นั้นไปต่อยอด และพัฒนาต่อ เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม และ องค์ความรู้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามความสนุกในการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว การสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้มีอำนาจทางการศึกษาในกระทรวง เราไม่อาจมองข้ามปัญหาของการศึกษาไทยได้ หากมันฉุดรั้งการเรียนรู้ในห้องเรียน เราทุกคนคงต้องช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตราบเท่าที่เรายังทำได้

พีรวุฒิ บุญสัตย์ (ป่าน The Principia)

แชร์เรื่องเคมีสุด FUN!