เคมีเปลี่ยนอนาคต! เส้นทางอาชีพสุดเจ๋งที่น้อง ๆ ต้องรู้

เคมีเปลี่ยนอนาคต! เส้นทางอาชีพสุดเจ๋งที่น้อง ๆ ต้องรู้

เคมีไม่ได้เป็นแค่เรื่องของห้องแล็ป แต่มันคือกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนโลก ตั้งแต่เครื่องสำอางที่ใช้ อาหารที่กิน ไปจนถึงพลังงานที่ทำให้โลกหมุน วันนี้ "ห้องเรียนเคมีดาว" ได้สัมภาษณ์ พี่ฝน วลัยพรรณ อร่ามฤทัยเลิศ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทวัสดุศาสตร์และปิโตรเคมีชั้นนำของโลก ที่จะมาเปิดโลกอาชีพสายเคมีให้กับน้อง ๆ ทุกคน ถ้าคุณเป็นเด็กสายวิทย์ อยากเรียนสายวิทย์ หรือแค่อยากรู้ว่าเคมีช่วยสร้างอนาคตได้อย่างไร ห้ามพลาด!!

วิทยาศาสตร์เคมี vs. วิศวกรรมเคมี: เลือกทางไหนให้เหมาะกับคุณ

แม้ทั้งสองสาขาใช้เคมีเป็นพื้นฐาน แต่เส้นทางอาชีพและบทบาทแตกต่างกันอย่างชัดเจน! มาค้นหาว่าสายไหนตรงกับความสนใจและเป้าหมายของน้อง ๆ มากที่สุด

วิทยาศาสตร์เคมี
เหมาะกับน้อง ๆ ที่ชอบการทดลอง ค้นคว้า และวิจัย มุ่งเน้นการพัฒนาสารใหม่และทำงานในห้องแล็ปเพื่อคิดค้นนวัตกรรม
ตัวอย่างอาชีพ: นักวิจัย, นักเคมีวิเคราะห์, นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในโรงงานอุตสาหกรรม เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องสำอาง อาหาร หรือในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล หน่วยวิจัยขององค์กร

วิศวกรรมเคมี
เหมาะกับน้อง ๆ ที่ชอบออกแบบกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ และแก้ไขปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรม
ตัวอย่างอาชีพ: วิศวกรฝ่ายผลิต, วิศวกรควบคุมคุณภาพ, วิศวกรห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain), วิศวกรฝ่ายขายม วิศวกรพัฒนากระบวนการผลิต เป็นตัน

Dow Thailand หรือกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดรับทั้งสองสาขา แถม พี่ฝนยังแอบกระซิบมาว่า ตอนนี้ วิศวกรรมเคมี กำลังมาแรง! ด้วยโอกาสในการทำงานที่หลากหลายทั้ง Production Engineer, Supply Chain และ Commercial ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยุคใหม่!

มหาวิทยาลัยที่มีสาขาเคมีสุดปังในไทย

มหาวิทยาลัยในไทยมีหลายแห่งที่เปิดสอนด้านเคมี โดยแต่ละที่มีหลักสูตรและจุดเด่นที่แตกต่างกัน ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยดังๆ ที่เปิดสอนสาขาวิชานี้ เช่น

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula)
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)
  • มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol)
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat)

และยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย

เรียนสูงขึ้นดีไหม? ป.ตรี vs. ป.โท vs. ป.เอก

น้อง ๆ หลายคนลังเลว่าจะเรียนต่อหรือออกไปทำงานก่อนดี มาดูข้อดีของแต่ละทางเลือกกัน!

  • ป.ตรี – เรียนจบแล้วเริ่มทำงานได้ทันที เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดงานเร็ว
  • ป.โท – ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เงินเดือนมากกว่าปริญญาตรี
  • ป.เอก – เหมาะสำหรับสายงานวิจัย เช่น Analytical Specialist

พี่ฝน จาก Dow Thailand แชร์มุมมองว่า “ประสบการณ์เป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กับการศึกษา โดยแนวทาง "Learning by Doing"  เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในสายอาชีพ สำหรับการฝึกงานหากได้ฝึกงานระยะยาว หลาย ๆ เดือน หรือฝึกงานแบบสหกิจศึกษา ที่มีการฝึกงานตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป น้อง ๆ จะมีโอกาสเรียนรู้กับประสบการณ์ทำงานจริงและสามารถประเมินตนเองได้ว่าเราเหมาะที่จะทำงานนั้นหรือไม่และทราบว่าเรายังขาดความรู้ในเชิงลึกเรื่องใดในงานนั้น ๆ เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนการเรียนจบเพื่อเตรียมพร้อมกับการทำงานในอนาคต

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง? อุตสาหกรรมและอาชีพที่เปิดรับเด็กสายเคมี

อุตสาหกรรมที่เปิดรับเด็กสายเคมี

  • พลังงานและปิโตรเคมี – วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิง วัสดุพลาสติก
  • อุตสาหกรรมยาและชีวเคมี – คิดค้นและผลิตยาเพื่อสุขภาพ
  • เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว – วิจัยและพัฒนาสูตรครีม โลชั่น เครื่องสำอาง
  • อาหารและเทคโนโลยีอาหาร – ตรวจสอบคุณภาพอาหาร และพัฒนาสารเติมแต่ง
  • การตลาดและการขายสินค้าเคมี – ใช้ความรู้ด้านเคมีวิเคราะห์ตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน – พัฒนาพลังงานสะอาดและรีไซเคิล

ตัวอย่างอาชีพที่น้อง ๆ ทำได้

  • นักเคมีวิเคราะห์ (Analytical Chemist) – ตรวจสอบคุณภาพและวิเคราะห์สารเคมี
  • วิศวกรการผลิต (Production Engineer) –ควบคุมกระบวนการผลิต
  • วิศวกรพัฒนากระบวนการผลิต (Improvement Engineer) - ปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ (Supply Chain Specialist) – จัดการขนส่งและจัดเก็บสารเคมี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการขาย (Sales & Marketing Specialist) – งานขาย วิเคราะห์ตลาดและพัฒนาธุรกิจ
  • นักพัฒนาเทคโนโลยี (Technical Service & Development) – วิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

ทักษะที่เด็กสายเคมีต้องมี ถ้าอยากรุ่ง

พี่ฝนแนะนำว่านอกจากความรู้ด้านเคมี ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้น้อง ๆ ก้าวหน้าในสายอาชีพ

  • การคิดวิเคราะห์ – เป็นทักษะที่มีผลในการช่วยพัฒนาการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างมาก การแก้ไขปัญหาและการหาเหตุผลต่างๆเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • ทักษะด้านข้อมูลและดิจิทัล – การใช้โปรแกรมต่าง ๆ เช่น Python, Power BI, MATLAB, ASPEN ในการวิเคราะห์ข้อมูล
  • ภาษาต่างประเทศ – ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ทุกคนและการรู้ภาษาที่ 3 อย่างเช่น ภาษาจีน ก็ช่วยเพิ่มโอกาสและทำให้เราได้เปรียบมากกว่าคนอื่น
  • ความรู้ด้านธุรกิจ – ติดตามการเคลื่อนไหวในธุรกิจ การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เราได้รับทราบถึงเรื่องนวัตกรรมหรือความรู้ใหม่ๆ
  • ความรู้มาตรฐานความปลอดภัย – เรียนรู้ กฏหมายทางด้านความปลอดภัย มาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือองค์กรในระดับสากล เช่น ISO, OSHA, REACH เพื่อความเป็นมืออาชีพ
  • การสื่อสาร – ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ผู้ที่ร่วมงานกับเราเข้าใจในเป้าหมายเดียวกัน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
  • การเป็นผู้นำ – ความรับผิดชอบในหน้าที่ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเดินตามมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน กระตุ้นให้ทีมงานทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบที่เป็นบวกต่อองค์กร

เคมีพาไปไกลกว่าที่คิด! อาชีพที่น้อง ๆ อาจไม่เคยนึกถึง

เคมีไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแล็ปหรือโรงงาน แต่สามารถต่อยอดไปสู่สายงานที่หลากหลาย เช่น

  • ธุรกิจและการตลาด – ใช้ความรู้เคมีวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรม
  • วิศวกรรมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม – งานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ เช่น อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์-ขนส่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ หากเรียนเคมีก็สามารถปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ระดับวิชาชีพ ได้ตามกฎหมายแรงงาน
  • โลจิสติกส์และซัพพลายเชน – กระบวนการจัดการการผลิตเพื่อทำให้เกิดสินค้าหรือบริการขึ้นมา ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ บริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งสู่มือของลูกค้า
  • เทคโนโลยีและนวัตกรรม – วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี วัสดุหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรม
  • จัดซื้อ - จัดซื้อสินค้าและบริการจากซัพพลายเออร์ต่าง ๆ เช่น การเจราจา การทำสัญญา การมีความรู้ด้านเคมีจะทำให้สามารถวิเคราะห์ เลือกสรร จัดหา สินค้าและบริการได้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

น้อง ๆ สนใจสายเคมี แต่ยังลังเล? นี่คือเหตุผลที่ควรเริ่มตอนนี้

ถ้าน้อง ๆ กำลังคิดว่าเคมีเป็นวิชาที่ยาก หรือไม่แน่ใจว่าจะต่อยอดได้ยังไง ลองเริ่มจากสิ่งเหล่านี้

  • ค้นหาแรงบันดาลใจ – ดูสารคดี อ่านบทความ หรือเข้าร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์
  • ทดลองด้วยตัวเอง – ทำการทดลองเคมีในชีวิตประจำวัน หรือ ลองสร้างสูตรผลิตภัณฑ์ง่าย ๆ ของตัวเองขึ้นมา
  • สัมผัสประสบการณ์จริง – ฝึกงานหรือเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมี
  • เปิดใจและเชื่อมั่นในตัวเอง – เคมีอาจเป็นกุญแจสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนโลก

เคมีเป็นกุญแจสู่โอกาสที่ไม่จำกัด หากน้อง ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้และเติบโต อย่ารอช้า ค้นหาเส้นทางที่ใช่แล้วก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างอนาคตที่ต้องการ
อย่าลืมติดตามข้อมูลดี ๆ ที่ "ห้องเรียนเคมีดาว" เพื่อช่วยน้อง ๆ ทุกคนก้าวสู่เส้นทางอาชีพในสายเคมี

บทความโดย: ชนากานต์ เพียรสม ผู้ช่วยฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

แชร์เรื่องเคมีสุด FUN!